วัดพะเนียงแตก
พระครูอุตตรการบดี (ทา)
วัดพะเนียงแตก ถ่าย ร.ศ.๑๒๗
พัดด้านขวามือคือพัดตำแหน่งพระครู ส่วนพัดด้านซ้ายมือคือพัดแจกในงานพระศพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศน์ฯ ร.ศ.๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕)
หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ท่านเป็นพระร่วมยุคสมัยเดียวกับหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน แต่ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากกว่า ดังจะเห็นได้จากพระราชพิธีพุทธาภิเษกสำคัญ ๆ ท่านจะได้รับนิมนต์ร่วมพิธีนั่งปรกปลุกเสกเสมอ เช่นพระราชพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งปวเรศและพระราชพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งสวนเต่า รัชกาลที่ ๕ หลวงพ่อทาท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากอยู่ระหว่าง พ.ศ.2400-2459 ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคต้นของจังหวัดนครปฐม และเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของจังหวัดนครปฐม ท่านเป็นพระนักปฏิบัติเชี่ยวชาญทางสมถกรรมฐาน มีพลังจิตแก่กล้า ประวัติของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ท่านเติบโตที่ตำบลบ่อผักกูด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี(นักเขียนบางท่านเข้าใจผิดว่าท่านเป็นชาวหนองเสือ ต.หนองดินแดง อ.เมือง จ. นครปฐม) บรรพบุรุษท่านเป็นชาวลาว เกิดปี พ.ศ.ใดไม่ปรากฏ เข้าใจว่าเกิดในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 ( ครองราช พ.ศ.2352-2367 )ประมาณปีพ.ศ.๒๓๖๐กว่า(อายุร่วมร้อยปี) มีพี่น้อง 4 คน เป็นชายทั้งหมด หลวงพ่อทาเป็นพี่ชายคนโต ส่วนน้องชายอีก 3 ท่านเท่าที่จำได้้ คือ หลวงพ่อคำ วัดหนองเสือ ต.หนองดินแดง อ.เมือง จ. นครปฐม ส่วนอีกสองท่านจำชื่อไม่ได้ทราบว่าท่านก็บวชเป็นพระเหมือนกัน ด้วยคุณงามความดีและความสามารถของท่าน ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และต่อมาเมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๒(ร.ศ.๑๐๘)พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูอุตตรการบดี(เจ้าคณะรองเมืองนครไชยศรี)รักษาพระปฐมเจดีย์ทิศเหนือรูปแรก เมื่อพลวงพ่อทาท่านมรณภาพ ปีพ.ศ 2459 ตำแหน่งพระครูอุตตรการบดีจึงตกแก่หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมสมัยที่่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านมักจะแวะเวียนมากราบรูปหล่อเท่าองค์จริงนี้้เสมอ เป็นประจำทุกปี เพราะหลวงพ่อเงินท่านนับถือหลวงพ่อทาเสมือนเป็นอาจารย์ รูปหล่อเท่าองค์จริงนี้ด้านหน้ามีข้อความว่า"พระครูอตตรการบดี(ทา) ส่วนด้านหลังมีตัวเลข "๒๔๖๔"
หลวงพ่อทา เมื่อบวชแล้วชอบเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ท่านได้ร่วมเดินธุดงค์กับหลวงพ่อคำ(พระน้องชาย)มายังจังหวัดนครปฐม โดยหลวงพ่อคำได้ปักกรดลงที่วัดหนองเสือ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง ส่วนหลวงพ่อทาท่านได้ธุดงค์เลยมาปักกรดลงที่วัดพะเนียงแตก ซึ่งเป็นวัดร้างเหมือนกัน(ประมาณ พ.ศ.๒๓๙๐) วัดพะเนียงแตกตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ห่างจากตัวเมืองนครปฐมไปประมาณ 5-6 กิโลเมตร สภาพบริเวณวัดเป็นทุ่งนา ป่าละเมาะอยู่ทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า วัดพะเนียงแตกเดิมทีมิใช่ชื่อวัดพะเนียงแตก แต่ชื่อวัดปทุมคงคาราม สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดพะเนียงแตกเพราะหลวงพ่อทาเมื่อมาอยู่ที่วัดพะเนียงแตก ท่านชอบเล่นพุไฟพะเนียงมักจะเล่นในเวลาที่มีงานเทศกาล งานประจำปีของวัด มีอยู่ปีหนึ่งท่านเอามือไปปิดปากพุเป็นเหตุให้พุไม่สามารถออกจากปากพุได้เมื่อร้อนมากเข้าก็เลยระเบิดและถูกท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด (โปรดใช้พิจารณาในการอ่าน)
หลวงพ่อทา ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ท่านเป็นพระนักปฎิบัติ เชี่ยวชาญทางสมถกรรมฐาน มีพลังทางจิตแก่กล้า ด้วยสาเหตุที่กล่าวมานี้เองทำให้วัดพะเนียงแตกสมัยนั้นเป็นวัดใหญ่โตเป็นปึกแผ่นหนาแน่น มีพระบวชเก่า บวชใหม่ และพระจรมาจำวัดปีหนึ่งๆไม่น้องกว่า 70-80 รูปเสมอ กุฎิ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ ก็สร้างไว้ใหญ่โตกว้างขวางในสมัยนั้น และในบรรดาศิษย์ที่มาขอเรียนวิชากับหลวงพ่อก็มีหลายท่าน อาทิเช่น หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่อวงษ์ วัดทุ่งผักกูด และหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม
โดยเฉพาะหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เมื่อได้อุปสมบทโดยมีหลวงพ่อทาเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ติดตามหลวงพ่อทาไปอยู่ที่วัดพะเนียงแตก เพื่อรับใช้ปรนนิบัติหลวงพ่อทา ความมุ่งหวังก็เพื่อจะขอร่ำเรียนธรรมปฎิบัติกับท่าน และข้อสำคัญที่สุดก็คืออยากจะเรียนคาถาอาคมจากท่านด้วย เพราะเป็นที่นิยมเลี่อมใสกันมากในขณะนั้น
ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านทรงโปรดปรานพระเถระผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน จะเห็นได้จากการเสด็จไปเยี่ยมพระคณาจารย์ต่างๆ หรือไม่ก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้า หลวงพ่อทาท่านก็เป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ให้ความนับถือ ดังนั้นพิธิพุทธาภิเษกพระกริ่งสวนเต่า รัชกาลที่5 ได้จัดพิธีพุทธาภิเษกในพระบรมมหาราชวัง(วัดพระแก้ว) หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกท่านก็ได้รับนิมนต์ร่วมพิธีพุทธาภิเษก
นอกจากพระพุทธเจ้าหลวงจะให้ความนับถือหลวงพ่อทาแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ก็ให้ความนับถือเหมือนกัน จะเห็นได้จากการที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานพระเครื่องเหรียญหล่อรุ่นแรกของหลวงพ่อทาให้แก่ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ โดยเฉพาะคณะเสือป่า
หลวงพ่อทาวัดพะเนียงแตกท่านมีความสนิทสนมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศฯขณะนั้นท่านดำรงสมณศักดิ์เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ปีพ.ศ.๒๔๐๓ ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๔ แต่งตั้งให้เป็นสถาปนิกออกแบบองค์พระปฐมเจดีย์(วัดพระปฐมเจดีย์อยู่ห่างจากวัดพะเนียงแตก ประมาณ ๕-๖ กิโลเมตร) ดังนั้นในพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งปวเรศ หลวงพ่อทาท่านก็ได้รับนิมนต์ร่วมพิธีพุทธาภิเษกด้วย และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมพระยาปวเรศฯสิ้นพระชนย์หลวงพ่อทาก็ได้รับนิมนต์ร่วมพิธีการพระศพ ดังนั้นการสร้างพระเครื่องของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จึงได้รับอิทธิพลจากวัดบวรนิเวศวิหาร พระเครื่องของท่านจึงเป็นในรูปแบบเทหล่อโบราณ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๒ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕
พระเครื่องของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เท่าที่มีหลักฐานแน่ชัดมีเพียง 2 รุ่นเท่านั้น และเป็นเหรียญหล่อโบราณ ส่วนพระปิดตาเนื้อเมฆพักตร์พิมพ์สามเกลอหรือเกลอเดี่ยวและพิมพ์โต็ะกังนั้น นักสะสมพระเครื่องในอดีต(เมื่องประมาณ ๕๐ ปีก่อน)ไม่ยอมรับว่าเป็นของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก และปัจจุบันก็ยังหาหลักฐานไม่ได้
เหรียญหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อได้จัดพิธีเทหล่อที่วัดพะเนียงแตก ส่วนหนึ่งได้นำออกให้บูชาในงานฝังลูกนิมิตที่วัดบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งงานฝังลูกนิมิตนี้หลวงพ่อมานั่งเป็นประธานในงาน และชาวบ้านที่มาเที่ยวงานทำบุญ 1 บาท ก็จะได้เหรียญหล่อรุ่นแรก 1 องค์ เหรียญหล่อรุ่นแรกนี้สร้างประมานปี พ.ศ.2440 วัดบางหลวงเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อประมาณพ.ศ.๒๔๒๐ โดยมีหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางหลวงเป็นรูปแรกและในขณะนั้นท่านก็ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพะเนียงแตกด้วย ส่วนพระอุโบสถหลังเก่าของวัดบางหลวงได้เสร็จในปี พ.ศ.๒๔๔๑ โดยมีหลักฐานบันทึกข้อความว่า"พ.ศ.๒๔๔๑"ที่พระอุโบสถหลังเก่าบริเวณอกเลาของพระอุโบสถ ปัจจุบันพระอุโบสถหลังเก่าได้ชำรุดทรุดโทรมมากทางวัดได้รื้อถอนไปหมดแล้ว
เหรียญหล่อรุ่นแรกนี้เป็นเหรียญหล่อโบราณ เนื้อขันลงหินแก่ทองแดงบางเหรียญออกเหลืองบางเหรียญออกแดงขึ้นอยู่ที่ความจัดของเหรียญ(เหรียญปลอมส่วนใหญ่จะออกแดงเพราะเนื้อออกแดงปลอมง่ายกว่าเนื้อออกเหลือ) เป็นพิมพ์รูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว และมีต้นโพธิ์ขึ้นเหนือปกคลุมซุ้ม ดูเสมือนเป็นภาพสามมิติ แสดงถึงความสามารถของช่างแกะแม่พิมพ์ (น่าจะเป็นช่างหลวง) เป็นเหรียญหล่อโบราณที่เก่าที่สุด และสวยงามที่สุดในยุคนั้น เหรียญรุ่นแรกนี้นับได้ว่าเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์สูงมาก และเป็นเหรียญที่สร้างชื่อเสียงให้กับหลวงพ่อทามากที่สุด จนถึงขนาดมีนักประพันธ์เอาไปเขียนเป็นนวนิยายเรื่อง"พะเนียงแตก" ซึ่งในเนื้อเรื่องได้กล่าวถึงเหรียญรุ่นแรกนี้ว่ามีคุณวิเศษทางด้านคงกระพันชาตรีเป็นเลิศ นับว่าเป็นเหรียญที่สวยที่สุดและดีที่สุดที่หลวงพ่อทาได้สร้างขึ้นมา ในอดีตนักสะสมพระเครื่องชาวจังหวัดพิจิตรหวงแหนเหรียญรุ่นแรกวัดพะเนียงแตกมากกว่าเหรียญจอบเล็กและจอบใหญ่ของหลวงพ่อเงิน บางคลานค่านิยมเหรียญหล่อรุ่นแรกองค์สวยแชมป์เล่นหากันถึงหลายล้านบาท(ราคาล่าสุดขาย ๕ ล้านบาท อนาคตมีสิทธิขึ้นถึงแปดหลัก) จึงเป็นพระเครื่องที่มีค่านิยมสูงสุดของจังหวัดนครปฐมและมีราคาสูงสุดของจังหวัดนครปฐม จำนวนเหรียญหลักร้อยหรือประมาณห้าร้อยเหรียญ
เหรียญหล่อหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เหรียญนี้ นับว่าเป็นเหรียญที่สวยที่สุดและเป็นเหรียญที่มีสภาพเดิม ซึ่งเหรียญส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญที่ผ่านการล้างทำความสะอาด (แชมป์ประเทศไทย)
รุ่นแรก
ส่วนเหรียญหล่อรุ่นสอง ทำพิธีเทหล่อที่วัดพะเนียงแตก สร้างประมาณ พ.ศ.2450 เหรียญรุ่นสองนี้สร้างจำนวนมากกว่าเหรียญรุ่นแรกหรือประมาณหลายพันเหรียญ เนื้อเหรียญรุ่นสองจะออกกระแสเหลืองคล้ายทองฝาบาตร(เหรียญรุ่นแรกเนื้อจะสูงกว่าเหรียญรุ่นสอง) จากการบอกเล่าของคุณตาเปลื้อง อดีตมรรคนายกวัดหนองเสือได้เล่าให้ผู้เขียนเมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๕ ขณะนั้นท่านอายุได้ ประมาณ ๘๕ ปีว่า "" ญาติของท่านที่เป็นศิษย์หลวงพ่อคำวัดหนองเสือ เคยได้รับเหรียญรุ่นสองจากหลวงพ่อคำวัดหนองเสือ หลวงพ่อคำมรณภาพเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๕๖ อายุประมาน ๘๐ กว่าพรรษาร่วม๙๐พรรษา และหลวงพ่อทาได้ไปในงานศพของหลวงพ่อคำด้วย และท่านได้เดินนำศพหลวงพ่อคำด้วย " ค่านิยมองค์สวยแชมป์รุ่นสองเล่นหากันถึงหลักหลายแสนถึงล้าน(ราคาต่ำกว่าของเหรียญรุ่นแรกหนึ่งเท่าถึงสองเท่า)
เหรียญหล่อรุ่นสอง นอกจากจะสร้างในสมัยที่หลวงพ่อทาท่านมีชีวิตอยู่ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ข้างต้น ได้มีท่านผู้รู้ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ภายหลังจากที่หลวงพ่อทามรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ก็ได้มีการสร้างเหรียญหล่อรุ่นสองขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๖๓หรือ๖๔ โดยจ้างช่างที่บ้านช่างหล่อ พรานนก เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรีชื่อช่างแช่ม ชื่นจิตต์ต่อมาได้เป็นช่างประจำตัวพระธรรมวโรดม(โชติ)อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์(ช่างแช่มมีอายุมากกว่าเจ้าคุณโชติ) ถ้าข้อมูลนี้เป็นความจริง(ขอให้อยู่ในดลยพินิจของท่านผู้อ่าน) ผู้เขียนเข้าใจว่า การสร้างเหรียญหล่อรุ่นสองครั้งนี้ น่าจะสร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริงของหลวงพ่อทา ปี พ.ศ.๒๔๖๔(เหรียญหล่อรุ่นสองครั้งนี้น่าจะสร้างพร้อมกับรูปหล่อเท่าองค์จริงปี พ.ศ.๒๔๖๔) แต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงข้อสันนิฐาน
เหรียญหล่อวัดพะเนียงแตก รุ่นสอง มีหู
รุ่นสององค์นี้ตบแต่งหน้า
เหรียญหล่อวัดพะเนียงแตก รุ่นสอง ไม่มีหู
เหรีญหล่อโบราณทั้งสองรุ่นนี้มีคุณวิเศษทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี มหาอุต และแคล้วคลาด และโชคลาภโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหรียญหล่อรุ่นแรกนั้นมีประสบการณ์มากที่สุด จนนักสะสมพระเครื่องเข้าใจผิดว่าดีทางคงกระพันชาตรี มหาอุดและแคล้วคลาดเท่านั้น ความจริงแล้ว ทางเมตตามหานิยม และโชคลาภ ก็มีผู้พบประสบการณ์อย่างมากมายเรียกว่าเป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใคร
ที่มา : https://skeereewichien.blogspot.com/2011/03/blog-post_29.html?m=1