หลวงพ่อดี ดีสมชื่อ ลือเล่าขาน
ดี คุณธรรม ล้ำค่า นานาประการ
ดี ด้วยทาน เมตตา ประชาชน
ดี ทั้งศีล สมาธิ ดำริชอบ
ดี ทางกอบ กู้วัด พ้นขัดสน
ดี เสมอ เอื้ออำนวย ทั้งรวย-จน
ดี ด้วยผล บำเพ็ญธรรม นำทางเอย.
ลายทอง คงคาพยนต์
หลวงพ่อดี วัดสุวรรณ ท่านเป็นพระเถระองค์หนึ่ง ซึ่งดีเด่นอยู่ในหัวใจชาวบ้านย่านตำบลศาลายามาช้านาน กล่าวขานกันเฉพาะบรรดาท่านที่รู้จักมักคุ้น และสานุศิษย์เท่านั้น
ท่านมีชีวิตอยู่อย่างเรียบๆ ง่ายๆ เต็มไปด้วยความสงบสุข สันโดษ แต่เจิดจ้าด้วยเมตตาธรรมซึ่งล้ำค่า ยากที่จะหาได้พบบ่อยนัก
ศีล-สมาธิ -ปัญญา ซึ่งท่านเฝ้าเพียรปฏิบัติตลอดมากว่า 60 พรรษานั้น ได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเลื่อมใสแก่บรรดาชาวบ้านทั่วไปที่พบเห็นท่าน เพราะท่านสมเป็นพุทธบุตรโดยแท้ เป็นเนื้อนาบุญที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นเถระที่บริสุทธิ์ด้วยศีลาจารวัตรงดงาม ควรค่าแก่การกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ
วัดสุวรรณ อยู่ไม่ห่างไกลจากกรุงเทพฯมากนัก แต่ที่นั่นยังมีบรรยากาศแห่งความสงบสุขแบบชนบทอยู่อย่างสมบูรณ์ ท่านที่นั่งรถไฟไปทางสายใต้ ท่านจะต้องผ่านสถานีรถไฟสถานีหนึ่งทุกครั้ง คือ สถานีรถไฟวัดสุวรรณ
หลังสถานีรถไฟนั้นคือ วัดสุวรรณ ซึ่งมองจากรถไฟไปจะเห็นถนัดชัดเจน ทั้งๆ ที่บางท่านผ่านไปจนนับครั้งไม่ถ้วน แต่ใครจะรู้ได้ล่ะว่า ที่วัดแห่งนี้ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับวัดอีกหลายร้อยวัด ซึ่งอยู่ริมทางรถไฟนั้นจะมีพระเถระที่ค่าควรแก่การสักการะจำพรรษาอยู่มา ช้านานแล้ว
ถ้าท่านจะหยุดลงที่ สถานีรถไฟวัดสุวรรณ ท่านก็จะรู้สึกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ท่านได้ผ่าน เพชรล้ำค่า ไปบ่อยครั้ง โดยไม่รู้สึกตัวเลยทีเดียว
โอกาสนี้จึงใคร่ขอแนะนำท่าน เพื่อว่าวันหนึ่งซึ่งจิตใจท่านสบายก็ตาม หรือทุกข์ท้อต่อชีวิตก็ช่าง หากท่านจะแวะลงที่วัดสุวรรณแล้ว ท่านก็จะได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อวัดสุวรรณ จนท่านอดไม่ได้ที่จะเอ่ยว่า...หลวงพ่อองค์นี้ ดี จริงๆ และนั่นแหละคือชื่อของท่าน
หลวงพ่อดี
หลวงพ่อดี เป็นชาวตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ.2446 ในตระกูลของชาวนากระดูกสันหลังของประเทศ
เมื่อเยาว์วัย ได้ช่วยบิดา-มารดาทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยทำนามาจนเจริญวัยได้ 18 ปี จึงได้สนใจที่จะเข้าศึกษาเล่าเรียน แต่สมัยนั้นโรงเรียนหายาก จึงได้ฝากตัวเข้าบรรพชาเป็นสามเณร ในสำนัก วัดกลางบางแก้ว ซึ่งเป็นสถานที่มีการศึกษาเจริญรุ่งเรือง โดยเหตุที่ พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขนฺโชติ) ท่านส่งเสริมสนับสนุนทางการศึกษา
เมื่อ บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงอยู่ศึกษาที่วัดกลางบางแก้ว โดยเรียนสนธิมูลกัจจายน์กับ พระอาจารย์เนียม ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ในวัดกลางบางแก้ว ภายใต้การควบคุมดูแลจากหลวงปู่บุญอย่างใกล้ชิด และศึกษาอักขระขอมกับ พระอาจารย์แสง อาจารย์ในสำนักวัดกลางบางแก้ว ผู้ชำนิชำนาญทางอักขระวิธีจนมีความรู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างดี
กาล ลุล่วงถึงปี พ.ศ.2466 มีอายุล่วงเข้า 20 ปี ท่านมีความซาบซึ้งต่อพุทธศาสนาอย่างมั่นคง จึงไม่คิดปลงออกจากเพศสมณะ พร้อมที่จะละสมบัติทางโลก ซึ่งโยมบิดา-มารดาจัดการแบ่งปันไว้ให้แล้ว เพียงคอยลูกแก้วลาสิกขามารับเท่านั้น ท่านกลับมิสนใจ จึงได้อุปสมบทสืบไป โดยเข้าอุปสมบทยังวัดใกล้บ้านเกิด เพื่อสะดวกแก่ญาติพี่น้องจะได้ร่วมอนุโมทนา คือที่ วัดงิ้วราย โดยมี พระครูปัจฉิมทิศบริหาร (เกิด) วัดงิ้วราย (อาจารย์วิปัสสนาชื่อดัง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพุฒ วัดกกตาล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระปลัดบุญ วัดแค เป็นอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้รับฉายาว่า สุวณฺโณ
หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้อยู่เฝ้าปรนนิบัติอุปัชฌาย์ตามประเพณี จนได้เวลานานพอสมควร จึงได้มาจำพรรษาอยู่ที่ วัดสุวรรณ ซึ่งในครั้งนั้นมี หลวงพ่อเนียม เป็นเจ้าอาวาส
เหตุที่ท่านมาจำพรรษาที่วัดสุวรรณก็เพราะว่า หลวงพ่อเนียม เจ้าอาวาสเป็นอาจารย์ของท่านเมื่อครั้งเป็นสามเณรนั่นเอง ภายหลังหลวงปู่บุญได้ส่งมาปกครองวัดสุวรรณ
ระหว่างนั้นท่านได้ออกธุดงค์ ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความวิเวก เจริญวิปัสสนาอยู่เสมอ บางปีท่านก็จะไปจำพรรษาอยู่ที่อื่นๆ เช่น ที่วัดขนอนคด ราชบุรีบ้าง วัดกกตาลบ้าง และที่สระบุรีบ้าง
ท่านมีความสนใจทางการปฏิบัติเพื่อความ ล่วงพ้นทุกข์อย่างแน่วแน่ และมั่นคง ตั้งมั่นอยู่ในเมตตาธรรมต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ดังนั้น ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาสานุศิษย์อย่างยิ่ง
ต่อมาเมื่อหลวงพ่อ เนียมได้มรณภาพลง ชาวบ้านซึ่งได้เห็นท่านมีจริยวัตรอันน่าเลื่อมใส จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาส วัดสุวรรณ สืบต่อมา
ระหว่าง ที่ท่านได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านนี้ ท่านก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้รวบรวมกำลังศรัทธาของสาธุชนทั้งหลาย สร้างสาธารณกุศลต่างๆ บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถซึ่งชำรุดทรุดโทรมจนมีความสวยงาม เป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น สร้างกุฏิสงฆ์ใหม่หลายหลัง สร้างศาลาการเปรียญให้กว้างขวาง เพียงพอแก่การใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียนให้แก่กุลบุตร-กุลธิดาได้เข้าศึกษาหาความรู้
นอกจาก นั้นท่านยังสร้างถาวรวัตถุอีกมากมาย จนวัดสุวรรณกลายเป็นวัดที่งามสง่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจของชาวบ้านย่านนั้นเป็นอย่างยิ่ง ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดี นั้นแปลกกว่าพระคณาจารย์อื่นๆ ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านคือ ความดี ซึ่งชนะความชั่วทุกอย่างได้อย่างอัศจรรย์ ยากจะหาเถระใดปฏิบัติได้เช่นท่าน ท่านดีจริงๆ ดีจนไม่น่าเชื่อ แม้เด็กวัดจะเดินซนชนท่าน ท่านก็ยิ้มเฉย แผ่เมตตาให้ จนเป็นที่เกรงใจของเด็ก คือ ชนะความชั่วด้วยความดี พระลูกวัดชกต่อยกัน ท่านก็เรียกมาไต่ถามด้วยความเมตตา จนพระไม่กล้ากระทำความผิดอีกต่อไป ด้วยคุณธรรมความดีของท่านนี่เอง เมื่อท่านสร้างมงคลวัตถุสิ่งใดออกมาแจกจ่าย จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ธงมหามงคล
ครั้งหนึ่ง ท่านทำการปัดกวาดห้องพระภายในกุฏิเจ้าอาวาสเก่า ท่านได้พบ ธงลงยันต์ ผืนหนึ่งมีความสวยงามมาก เป็นแบบฉบับที่ดี ที่ท่านพึงพอใจ (ภายหลังทราบว่าเป็นธงของ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม)
ท่าน จึงได้นำมาศึกษาจนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี จึงได้ทดลองทำแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์ให้ทดลองนำไปใช้ ปรากฏว่า ได้ผลเป็นอย่างดีในทางมหาลาภ ร้านค้าใดมีธงของท่านปักไว้ ก็ทำมาค้าขายได้ดี เงินทองเข้าร้านร่ำรวยไปตามๆ กัน จนท่านลงไม่ทัน เพราะธงนั้นต้องลงอักขระด้วยมือ ไม่ใช่พิมพ์กันทีละหมื่นสองหมื่นผืน
มีบางรายนำไปใช้คุ้มครองบ้านเรือน ก็ได้ผล ขโมยเข้าบ้านไม่ถูก เดินไปทางไหนเห็นกอไผ่บังหน้าเต็มไปหมด มีอยู่หลายรายนำไปใช้ป้องกันฝนตก ก็ได้ผล เพราะถึงฤดูก่อนเข้าพรรษา มีชาวบ้านต้องทำพิธีบวชลูกหลานกันมาก ตามบ้านนอกพื้นดินบริเวณบ้านเป็นลานดิน หากฝนตกลงมาการจัดงานก็ลำบาก จึงได้ใช้ธงหลวงพ่อดีเอาขึ้นปักไว้บนหลังคาบ้าน จุดธูปบอกกล่าว ปรากฏว่าฝนไม่ตกลงมาบริเวณงาน แต่รอบๆ ทั่วไปตกลงมาเป็นเทน้ำ เรื่องนี้ร่ำลือกันมาก
นายเสมียน โตบู่ เจ้าของภาพที่ถ่ายนำมาประกอบรูปเรื่องคนนี้ เป็นชาวบ้านมหาสวัสดิ์ ได้ธงหลวงพ่อดีไว้ใช้ เคยปักธงไว้กันฝนได้ผลมาแล้ว เล่าว่า ที่บ้านจะมีงานบวช ฝนตั้งเค้าดำมา จึงเอาธงปักไว้บนหลังคาบ้าน แล้วจุดธูปบอกหลวงพ่อดี ปรากฏว่าฝนตกลงมาขนาดหนักในบริเวณทั่วไป แต่เว้นไว้บริเวณงานเท่านั้น เจ้าตัวยืนยันมาว่า ธงผืนนี้พอใกล้เข้าพรรษามักจะไม่ค่อยว่าง ต้องจัดคิวเอาไว้แบบวงดนตรีลูกทุ่ง เพราะจะมีคนมาขอยืมกันตลอดเวลา จนขาดรุ่งริ่งก็ยังศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม
นอกจากธงมหามงคลแล้ว หลวงพ่อดีท่านยังสร้าง เหรียญ ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2506 รุ่นแรก ลักษณะแบบใบเสมา มีรูปท่านครึ่งองค์ เนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 5,000 เหรียญ แจกจ่ายไปจนหมด ปรากฏว่าทางเมตตามหานิยมเป็นเอก ส่วนทางคงกระพันชาตรีก็แน่เหมือนกัน พวกชาวเรือหางยาวที่แล่นผ่านหน้าวัดท่านเอาไปใช้ เกิดมีเรื่องถึงยิงกันบนเรือ ต่างคนต่างไม่เป็นไร เพราะต่างคนต่างมีเหรียญหลวงพ่อดี ทำไปทำมา เมื่อสอบถามกันได้ความ มีเหรียญเหมือนกันคือ เหรียญหลวงพ่อดี จึงเลิกวิวาทกัน หันมา ดี กัน สมชื่อ มี เหรียญหลวงพ่อดี ต้องดีอยู่เสมอ ต่อมาเหรียญรุ่นหนึ่งหายาก ท่านจึงสร้าง รุ่น 2 เป็นชนิดกลม เนื้ออัลปาก้า ขึ้นมาอีก 3,000 เหรียญ ปรากฏว่าหมดในวันออกเหรียญรุ่น 2 นี้หายากอีก ท่านจึงสร้าง รุ่น 3 เป็นแบบรูปไข่ เนื้อทองแดง ครั้งนี้ท่านเปลี่ยนเป็นสร้างรูปเต็มองค์ เพราะสร้างครึ่งองค์แล้วมีคนท้วงว่า ขัดกับลักษณะของหลวงพ่อ ซึ่งเป็น พระใจดี แต่ให้รูปทั้งทีให้แค่ครึ่งเดียว ไหนๆ จะให้กันทั้งทีต้องให้ทั้งองค์
เหรียญรุ่น 1 หลวงพ่อดี เนื้อทองแดงรมดำ
พระผง 1 หลวงพ่อดี เนื้อว่านหัวบานเย็น
พระผงสมเด็จ พิมพ์อกร่อง หลังยันต์ หลวงพ่อดี
เหรียญรุ่น 2 พัดยศ หลวงพ่อดี ปี 08 เนื้ออัลปาก้า
เหรียญรัศมี ปี 16 หลวงพ่อดี เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อดี หลังพระ ปี 16 เนื้อทองแดง
เหรียญสตางค์หลวงพ่อดี ปี 21 เนื้อทองแดง
เหรียญเสมาหันข้าง หลวงพ่อดี ปี 30 เนื้อทองแดง
เหรียญเจ้าสัว หลวงพ่อดี ปี 35 เนื้อสตางค์
เหรียญหยดน้ำ หลวงพ่อดี ปี 36 เนื้อเงิน
ท่านเห็นจริงด้วย จึงให้สร้างเป็นรูปเต็มองค์ รุ่นนี้ก็ศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้รุ่นหนึ่งรุ่นสอง ขนาดครึ่งองค์ยังศักดิ์สิทธิ์ขนาดนั้น รุ่นนี้เต็มองค์ก็ไม่ต้องห่วง
หลังจากนั้นมาท่านได้สร้างรุ่นต่างๆ ตามที่ศิษย์ต้องการอีกหลายรุ่น ทั้งเนื้อผงและเหรียญล้วนเป็นที่นิยมกันมากทั้งสิ้น
หลวงพ่อ ดี เป็นหลวงพ่อดีของบรรดาญาติโยมและสานุศิษย์ตลอดมา จนกระทั่งอายุได้ 89 ปี พรรษาที่ 68 จึงถึงแก่มรณภาพด้วยวัยชรา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2536 ถึงท่านจะจากไปแล้วก็ตาม แต่ ความดีของท่านก็ยังจารึกอยู่ในความทรงจำของญาติโยมและชาวบ้านตลอดจนสานุศิษย์ตลอด ไปไม่มีวันลืมเลือน ตามคำกล่าวที่ว่า
พฤษภก ผกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่ห์คง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติที่วางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
( ที่มา : ลานโพธิ์ #1023 เดือนพฤษภาคม 2552 : หลวงพ่อดี วัดสุวรรณ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ภาพและเรื่องโดย..ลายทอง คงคาพยนต์? เอื้อเฟื้อภาพโดย เต็ก บางน้อย)