ถ้ากล่าวถึงพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองนครปฐม นาม "หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม" จะเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่ทุกคนเคารพเลื่อมใสและลูกศิษย์ลูกหามากมาย ด้วยเมตตาบารมีและพุทธคุณแห่งวัตถุมงคลเป็นที่กล่าวขวัญ เลื่องลือ แต่มีพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่หลวงพ่อเงินให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ถึงกับออกปากว่า "เก่งกว่าท่านมากนัก" และจะเรียกขานว่า "หลวงพี่" มาโดยตลอด
นอกจากนี้ ท่านมักกล่าวกับผู้ที่เดินทางไปขอวัตถุมงคลกับท่านเสมอว่า "คุณเลยของดีมาเสียแล้ว หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน นั่นแหละ ของดีของจริง ไปเอาที่นั่นเถอะโยม" พระเกจิรูปนั้นก็คือ พระครูสิริวุฒาจารย์ หรือหลวงพ่อห่วง วัดท่าใน จ.นครปฐม
ย้อนไปสมัยยังหนุ่มแน่น พระเกจิ 3 รูปจะออกธุดงค์ร่วมกันเสมอทุกปีมิได้ขาด ประกอบด้วย หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน และหลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม ครั้งหนึ่งขณะที่เดิน ธุดงค์ผ่านเข้าไปในป่าดงดิบแถบกาญจนบุรี ไปพบกระทิงโทนตัวหนึ่ง มันไล่ขวิดเข้าทำร้าย หลวงพ่อเงินและหลวงพ่อเต๋ได้เดินหลบไป แต่หลวงพ่อห่วงกลับไม่หลบ ยังคงยืนภาวนาพระคาถาอยู่ตรงที่เดิม เมื่อ เจ้ากระทิงโทนวิ่งเข้าใส่ไล่ขวิดก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่มันขวิดไปไม่ถึงตัวท่าน คงขวิดได้แค่ดินตรงหน้าท่านเท่านั้น จนฝุ่นตลบอบอวลไปทั่ว หลังจากขวิดได้สักพัก มันก็แผดเสียงร้องคำรามแล้ววิ่งหนีไป ...
หลวงพ่อห่วงเป็นชาวนครปฐมโดยกำเนิด เกิดที่ อ.สามพราน เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กันยายน ปีพ.ศ.2428 อายุได้ 22 ปี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดทรงคนอง จ.นครปฐม มีหลวงพ่อรุ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อมี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อแจ่ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "สุวณฺโณ"
เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ถือสมถะ รักสันโดษ และใฝ่ใจศึกษาพระธรรมวินัยและวิปัสสนาธุระจนแตกฉาน เมื่อถึงช่วงออกพรรษาท่านมักจะออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ แสวงหาที่สงบ เพื่อปลีกวิเวกและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระอาจารย์รุกขมูลชื่อดัง
พรรษาที่ 6 มาปักกลดที่บริเวณวัดท่าใน ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก ชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา พร้อมใจกันอาราธนาท่านให้จำพรรษาที่วัดท่าใน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ซึ่งนอกเหนือจากพัฒนาและบำรุงเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับแล้ว ท่านยังคงปฏิบัติกิจสงฆ์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สั่งสอนธรรมะ แนะนำช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านและพื้นที่ใกล้เคียง
จนปีพ.ศ.2475 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าใน และสมณศักดิ์สุดท้ายได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่พระครูสิริวุฒาจารย์ ท่านมรณภาพในปีพ.ศ.2506 สิริอายุรวม 75 ปี พรรษาที่ 56 พระราชทานเพลิงศพวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2507
วัตถุมงคลที่ท่านสร้างมีมากมายหลายแบบ ทั้งตะกรุดโทน ด้ายมงคล พระพิมพ์ผงเกสร และเหรียญรูปเหมือน ว่ากันว่าการปลุกเสกวัตถุมงคลของท่านนั้นฉมังนัก อย่าง "พระผงเกสร" เมื่อท่านตากพระแห้งสนิทแล้วก็จะนำไปใส่ในบาตรที่มีน้ำเต็มขอบบาตรและนั่งบริกรรมปลุกเสก จนพระลอยขึ้นมาเหนือน้ำจึงจะใช้ได้ องค์ไหนที่จมถือเป็นพระเสีย พระเครื่องของท่านจึงเปี่ยมด้วยพุทธานุภาพเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้บูชา ทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี เป็นที่หวงแหนยิ่งนัก ประการสำคัญเมื่อท่านจะมอบวัตถุมงคลให้ใครท่านจะพิจารณาอย่างมากและสำทับด้วยว่า "มึงอย่าไปเที่ยวปล้นเขานะ"
ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านหาดูค่อนข้างยากเอามากๆ ที่พอจะเห็นได้อยู่ก็จะเป็น "เหรียญรูปเหมือน" ซึ่งมีทั้งหมด 3 รุ่น และรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ "เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก" ที่สร้างในปีพ.ศ.2499 โดยลูกศิษย์เป็นผู้สร้างถวาย เนื่องในงานฉลองสมณศักดิ์ จำนวนประมาณ 500 เหรียญ โดยส่วนใหญ่จะเป็น เนื้อเงิน เนื้อทองแดงรมดำมีบ้างแต่น้อยมาก
เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อห่วง รุ่นแรก ปี 2499 ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม ทรงเสมาคว่ำ หูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อห่วงครึ่งองค์ หน้าตรง มีอักษรไทยระบุชื่อ "หลวงพ่อห่วง" ตกแต่งโดยรอบด้วยลายกนก ด้านหลังเป็นหลังเรียบ ตรงกลางเป็น "ยันต์กระต่ายสามขา" ซึ่งเป็นยันต์ด้านคงกระพันชาตรีซ้อนกัน 2 ยันต์ โดยรอบเป็นอักขระขอมอ่านว่า "นะ มะ อะ อุ" ยอดบนเป็น "อุณาโลม" ด้านล่างเป็นอักขระขอมว่า "นะ อุ ทะ"
ที่มา : https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1473075214